Hotline::062-264-6563

ตารางนาฬิกาชีวิต (Body-Clock)

ไป๋เฉ่า สหคลินิก ได้คัดมาจากศาสตร์การแพทย์แผนจีน ซึ่งเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก เป็นการสรุปการทำงานของอวัยวะหลักและเส้นลมปราณทั้ง 12 ตามเวลาใน 1 วัน หากเราค่อยๆปรับการปฏิบัติตัวอย่างมีวินัยเท่าที่ทำได้ ร่างกายก็จะสร้างสมดุลให้กับตัวเอง เป็นการดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองเบื้องต้น

สรุป นาฬิกาชีวิต แยกตามช่วงเวลา และอวัยวะ

เวลา 01.00 – 03.00: ตับ

เวลา 03.00 – 05.00: ปอด

เวลา 05.00 – 07.00: ลำไส้ใหญ่

เวลา 07.00 – 09.00: กระเพาะอาหาร

เวลา 09.00 – 11.00: ม้าม

เวลา 11.00 – 13.00: หัวใจ

เวลา 13.00 – 15.00: ลำไส้เล็ก

เวลา 15.00 – 17.00: กระเพาะปัสสาวะ

เวลา 17.00 – 19.00: ไต

เวลา 19.00 – 21.00: เยื่อหุ้มหัวใจ

เวลา 21.00 – 23.00: ซานเจียว (พลังงานรวม)

เวลา 23.00 – 01.00: ถุงน้ำดี

นาฬิกาเป็นเครื่องมือสำหรับบอกเวลา แต่ในอดีตการสังเกตเวลาจากดวงอาทิตย์ทำให้ทราบว่าเป็นช่วงเวลาไหน ในหนึ่งวันเราทุกคนมีเวลาเท่ากันที่จะทำในสิ่งต่าง ๆ หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งนาฬิกาก็จะเดินไปเรื่อย ๆ รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การกำเนิด หรือเรื่องราวต่าง ๆ รวมทั้งการเจ็บป่วย หรือการเสียชีวิต เป็นต้น ในขณะที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์เกิดกลางวันและกลางคืน ขณะเดียวกันมนุษย์ก็ดำเนินชีวิตไปเรื่อย ๆ จนหมดวันเช่นกัน

“นาฬิกาชีวิต” หรือ Body Clock เป็นสิ่งจำเป็นและเป็นระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์ มีหน้าที่ในการควบคุมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการตื่นนอน การนอนหลับ หรือการหลั่งฮอร์โมน ทั้งยังเป็นตัวเชื่อมระหว่างร่างกายมนุษย์และโลกของเรา อย่างไรก็ตาม ร่างกายของเราก็ต้องการอาหารเพื่อไปช่วยหล่อเลี้ยงร่างกายและหลีกเลี่ยงสิ่งที่ให้โทษกับอวัยวะ ทั้งยังควรบำรุงร่างกายหรืออวัยวะนั้น ๆ และฟื้นฟูให้ดีขึ้นต่อไป

การแพทย์แผนจีนเชื่อว่าเส้นลมปราณในร่างกายเราก็เหมือนน้ำขึ้น-น้ำลงไหลตามกาลเวลาและแปรปรวนระหว่างเส้นลมปราณในร่างกาย เหมือนกลางวันและกลางคืนที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพของมนุษย์อย่างแยกไม่ออก ช่วงเวลา 24 ชั่วโมงใน 1 วันนั้น ภายในร่างกายของมนุษย์ยังมีการไหลเวียนของพลังชีวิตที่เรียกว่าลมปราณ ที่จะผ่านในแต่ละอวัยวะนั้น ๆ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงต่อ 1 อวัยวะ รวม 24 ชั่วโมง

หากมองในมุมมองของร่างกายมนุษย์ก็เช่นกัน นาฬิกาชีวิตสำหรับมนุษย์แล้วมีผลอย่างมากต่อสุขภาพ เช่น ผลต่อความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง การทำงานของสมองที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจและระบบเผาผลาญ หรือการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตอาจทำให้การทำงานของนาฬิกาชีวิตผิดปกติไป

ในคัมภีร์ “หวงตี้เน่ยจิง” ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณของจีนได้อธิบายถึงความคิดที่สำคัญและเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมลัทธิเต๋าที่เป็นรากฐานทางปรัชญาของระบบการดูแลสุขภาพ ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามหลักและกฎของธรรมชาติหรือนาฬิกาชีวิต ความคิดนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการสร้างทฤษฎีสุขภาพทางการแพทย์แผนจีน รวมถึงเริ่มจากทุกช่วงเวลาในทุก ๆ วัน ซึ่งแบ่งเป็น 12 ชั่วโมงในกลางวันหรือหยาง และอีก 12 ชั่วโมงในกลางคืนหรือหยิน ซึ่งสอดคล้องกับเส้นเมอริเดียนหรือเส้นลมปราณบนร่างกายตามจุดฝังเข็ม เริ่มต้นตั้งแต่เกิด อายุน้อยจนกระทั่งเสียชีวิต อธิบายคร่าว ๆ ดังนี้

• ช่วงเวลา 23.00-01.00 น. เป็นช่วงเวลาที่แนะนำว่า “ก่อนช่วงเวลานี้ควรเข้านอน” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของถุงน้ำดี โดยทฤษฏีการแพทย์แผนจีนเชื่อว่าถุงน้ำดีจะทำหน้าที่ในการตัดสินใจ ซึ่งในช่วงนี้ไขกระดูกจะเริ่มต้นสร้างเลือดและซ่อมแซมร่างกาย ดังนั้น จึงเป็นเวลาที่เราควรจะนอนหลับ

• ช่วงเวลา 01.00-03.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “ต้องนอนให้หลับสนิท” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของตับจะทำหน้าที่กำจัดสารพิษในร่างกาย สร้างน้ำดีมาเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด โดยการนำมาสังเคราะห์และเก็บสะสมไว้ในรูปไกลโคเจน

• ช่วงเวลา 03.00-05.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “หลับลึก ปอดเปิดรับพลังบริสุทธิ์” เป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณของปอดทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมหลอดเลือดเพื่อเป็นจุดแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน เพื่อให้ระบบหายใจทำงานได้เต็มที่ และเซลล์ต่าง ๆ สามารถรับก๊าซออกซิเจนได้เพียงพอ

• ช่วงเวลา 05.00-07.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “ดื่มน้ำอุ่น ขับถ่ายอุจจาระ” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณลำไส้ใหญ่ทำหน้าที่ ดังนั้น เราควรตื่นนอนเพื่อการขับถ่ายของเสีย นอกจากนี้มีการหลั่ง cortisol เพื่อช่วยให้ร่างกายมีความกระปรี้กระเปร่า ช่วงเวลานี้สามารถดื่มน้ำอุ่นเพื่อช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ทำงานดีขึ้น

• ช่วงเวลา 07.00-09.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “เวลาของอาหารเช้า” เพราะเส้นลมปราณของกระเพาะอาหารทำหน้าที่การย่อยและการดูดซึมอาหารถือเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในระบบทางเดินอาหาร

ดังนั้น ในช่วง 07.00-9.00 น. ควรรับประทานอาหารเพราะจะทำให้การย่อยและการดูดซึมทำงานได้ดีที่สุด ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ตลอดทั้งวัน หากเราไม่รับประทานอาหารเช้าติดต่อกันเป็นเวลานาน ร่างกายก็จะไม่สดชื่น อ่อนเพลียง่าย

• ช่วงเวลา 09.00-11.00 น. เป็นช่วงเวลาที่แนะนำว่า “ขยับตัวเล็กน้อย หรือทำงาน” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของม้ามทำหน้าที่ขนส่ง ควบคุมเลือด การย่อย ดูดซึม และทำหน้าที่กระจายสารอาหารและน้ำไปยังอวัยวะต่าง ๆ สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดที่เสื่อมสภาพ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การทำงานหรือทำกิจกรรม

• ช่วงเวลา 11.00-13.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “นอนพักกลางวัน” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของหัวใจทำหน้าที่ จึงควรนอนพักในช่วงเวลานี้เหมาะสมมากที่สุดเพื่อเป็นการบำรุงหัวใจ โดยเราควรนอนพักในช่วงเวลากลางวันประมาณ 15-30 นาที เพื่อให้ร่างกายและสมองได้พักทำให้ร่างกายสดชื่นขึ้น

• ช่วงเวลา 13.00-15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ “ย่อยและการดูดซึม” เพราะเส้นลมปราณของลำไส้เล็กทำหน้าที่ในการดูดซึมสารอาหารและน้ำ แล้วจึงอาศัยม้ามส่งไปยังหัวใจและปอดเพื่อเลี้ยงร่างกาย และกากอาหารจะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่ โดยน้ำจะดูดซึมและขับออกไปที่กระเพาะปัสสาวะ ดังนั้น ในมื้อกลางวันจึงไม่ควรรับประทานอาหารเกิน 13.00 น.

• ช่วงเวลา 15.00-17.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “ดื่มน้ำ ช่วยขับปัสสาวะ” เพราะเส้นลมปราณของกระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่ หมายถึง เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการดื่มน้ำและขับถ่ายปัสสาวะ โดยในเวลา 17.00 น. จะเป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรงมากที่สุด จึงเหมาะแก่การออกกำลังกาย

• ช่วงเวลา 17.00-19.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของไตทำหน้าที่ ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็ม รับประทานอาหารที่มีรสจืดแทน

• ช่วงเวลา 19.00-21.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “อารมณ์ดี” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของเยื่อหุ้มหัวใจทำหน้าที่ เยื่อหุ้มหัวใจเป็นเนื้อเยื่อบาง ๆ ห่อหุ้มหัวใจเอาไว้ ทำหน้าที่ปกป้องหัวใจ หลังอาหารเย็นควรรักษาอารมณ์ของเราให้ดีอยู่เสมอเพื่อเป็นการผ่อนคลาย สามารถฟังเพลงหรืออ่านหนังสือ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงเวลาที่มีสมาธิที่สุดเพื่อเตรียมตัวเข้านอน

• ช่วงเวลา 21.00-23.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ “ควรทำร่างกายให้อบอุ่น นอนพักผ่อน” เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของซานเจียวทำหน้าที่ ซานเจียวแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนบนระบบหายใจ (หัวใจและปอด) ส่วนกลางระบบย่อยอาหาร (กระเพาะอาหาร ม้าม และตับ) และส่วนล่างระบบขับถ่าย (ไต กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้เล็ก) ซานเจียวจะทำหน้าที่เป็นทางผ่านของลมปราณและเลือด ลำเลียงผ่านสารอาหารและน้ำ ปรับสมดุลความร้อนในร่างกาย เราควรเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับพักผ่อน ควรจะแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นประมาน 20 นาที ทำให้ร่างกายที่ทำงานหนักมาทั้งวันได้รับการพักผ่อน และยังเป็นการช่วยให้นอนหลับ

หากเราปรับเปลี่ยน “นาฬิกาชีวิต” ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติจะเป็นการส่งเสริมการมีสุขภาพที่ดี อายุยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ แล้วยังจะเป็นการช่วยเพิ่มระดับให้แก่คุณภาพชีวิตของเราให้ดีขึ้นได้อีกด้วย

ขอขอบคุณบทความจาก: https://www.wongkarnpat.com/viewya.php?id=2962

Line : @paichao

ไป๋เฉ่า คลินิก

สนใจสามารถติดต่อนัดตรวจสุขภาพได้ทุกสาขาค่ะ

สาขาพระโขนง     088-566-6623
สาขานวลจันทร์    099-323-6269
สาขาราชพฤกษ์    093-969-2391
สาขาประชาชื่น     084-285-4663
สาขาเชียงใหม่ (รวมโชค)  091-566-1623

HotLine   : 062-264-6563
Line: @paichao

www.paichaoclinic.com
Facebk: Paichao.Clinic
IG: PaichaoClinic